ดร.แดน เสนอ ‘นวัตกรรมนโยบาย’ รับมือสถานการณ์โลกยุคใหม่
1 min readดร.แดน เสนอหลากหลายนวัตกรรมทางนโยบาย โดยใช้ ‘เอไอ’ กำหนดนโยบาย, ใช้นโยบายตัดเสื้อพอดีตัว, จับคู่เอกชนกับโปรเจ็คซีเอสอาร์ที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน, จัดระบบแปลงทุกสินทรัพย์เป็นทุน, พัฒนา ‘สมรรถนะพื้นฐานถ้วนหน้า’, พัฒนาดัชนีชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ, กำหนด ‘เป้าหมายความเหลื่อมล้ำ’ และพัฒนา ‘เศรษฐกิจกระแสกลาง’ แข่งขันได้ยามปกติ และพึ่งพาตนเองได้ยามวิกฤต
ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ หรือ ดร.แดน นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในงานเสวนา ‘นวัตกรรมทางนโยบายเพื่อการพัฒนา’ (Policy Innovation 2022) จัดโดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ Tholos Foundation เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ระบุ การพัฒนาประเทศภายใต้บริบทใหม่ ไม่สามารถใช้วิธีการเดิม แต่ต้องการแนวนโยบายใหม่ ๆ
“โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจความรู้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเรายังต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โรคระบาด สงคราม และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ การกำหนดนโยบายต้องการแนวคิด เครื่องมือ วิธีการใหม่ และนวัตกรรมทางนโยบาย เพื่อการสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน”
นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมสังคมศาสตร์ฯ เสนอนวัตกรรมทางนโยบายในโลกยุคใหม่ว่า ควรประยุกต์เทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการกำหนดและดำเนินนโยบายมากขึ้น เช่น การใช้บิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการข้อมูลและกำหนดนโยบาย ซึ่งนำไปสู่การออกแบบนโยบายแบบตัดเสื้อพอดีตัว สำหรับแต่ละพื้นที่และกลุ่มคนมากขึ้น การกำหนดนโยบายอุดหนุนแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายและมีเงื่อนไขมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีในการประสานความร่วมมือและระดมทรัพยากรเพื่อการดำเนินนโยบาย
“ภาครัฐควรสนับสนุนบทบาทและระดมทรัพยากรจากภาคกิจอื่นมากขึ้น เช่น จับคู่ธุรกิจให้รับผิดชอบซีเอสอาร์ (CSR) ในประเด็นที่สำคัญและไม่ซ้ำซ้อนกัน การจัดระบบนำทรัพยากรทุกรูปแบบมาใช้ประโยชน์สูงสุด และแปลงสินทรัพย์รูปแบบอื่น ๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม เครือข่ายทางสังคม แรงงาน ไอเดีย ความดี เป็นต้น เป็นทุนทางการเงิน ตลอดจนเพิ่มทุนให้กับประเทศ โดยการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วยนโยบาย ‘สมรรถนะพื้นฐานถ้วนหน้า’ (Universal Basic Competency) และนำเข้ามวลคนเก่งในด้านที่แต่ละประเทศเก่งที่สุดจากทั่วโลก เพื่อจุดสตาร์ท (Jump Start) การพัฒนาประเทศในยุคใหม่”
ดร.แดน เสนอแนะว่า การกำหนดนโยบายควรพัฒนาบนฐานจุดแกร่งของประเทศ ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และนโยบายกลุ่มจังหวัด จังหวัด อำเภอ ตำบล ควรสนับสนุนนโยบายในระดับที่สูงขึ้นไปเป็นลำดับขั้น โดยที่แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายควรจัดทำชุดดัชนีวัดการพัฒนาประเทศ มีตัวชี้วัดครอบคลุมทุกกิจกรรมและเป้าหมาย และมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานต้องรับผิดชอบเป้าหมายเจาะจง เช่น การกำหนด ‘เป้าหมายความเหลื่อมล้ำ’ (Inequality Targeting) ควบคุมความเหลื่อมล้ำไม่ให้เกินเป้าหมายที่กำหนด เป็นต้น
“ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายรองรับวิกฤตและความไม่แน่นอน โดยเฉพาะนโยบายบนฐานกฎ (Rule-based Policy) ที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามกฎและระบบที่วางไว้ และนโยบายป้องกันและรองรับวิกฤต เช่น นโยบาย ‘เศรษฐกิจกระแสกลาง’ ที่ทำให้ประเทศแข่งขันได้ยามปกติและสามารถปรับเปลี่ยนสู่การพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤต” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย